• KSL Group

    บริษัท น้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

กฟผ. ต่อยอดความสำเร็จการพัฒนาแหล่งน้ำ “ชุมชนบ้านห้วยยาง” ระดมนักวิชาการให้ความรู้การงดใช้สารพิษใกล้แหล่งน้ำ

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

กฟผ. ต่อยอดความสำเร็จการพัฒนาแหล่งน้ำ “ชุมชนบ้านห้วยยาง” ระดมนักวิชาการให้ความรู้การงดใช้สารพิษใกล้แหล่งน้ำ

กฟผ. จัดงานเสวนาต่อยอดความสำเร็จการสร้างแหล่งน้ำชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นหนองน้ำบ้านห้วยยางที่แห้งขอดมากว่า 40 ปี ให้กลับมากักเก็บน้ำได้มากกว่า 1 แสนลูกบาศก์เมตร ตอบความคาดหวังชุมชน “น้ำคือชีวิต” และเป็นจุดเริ่มต้นความมั่นคงทางด้านอาหาร พร้อมเดินหน้าจัดเสวนาระดมนักวิชาการ เพื่อให้เครือข่ายชุมชนในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม กว่า 250 คน ร่วมกันรักษาแหล่งน้ำให้ห่างไกลจากสารพิษและสารปนเปื้อน
วันนี้ (18 กันยายน 2561) นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “ชีวิตจะรอดได้อย่างไร เมื่ออยู่ใกล้น้ำเป็นพิษ” ณ ศาลาปฏิบัติธรรมบ้านห้วยยาง ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เพื่อต่อยอดความสำเร็จของชุมชนบ้านห้วยยางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่มียาวนานมากว่า 40 ปี โดยกระบวนการสร้างพลังชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหา ภายใต้การดำเนินโครงการสื่อสารและสร้างเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเองในพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าอย่างยั่งยืน หรือ โครงการภูมิชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชุมชนบ้านห้วยยาง ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงานร่วมกัน ทำให้ กฟผ. สามารถคว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น หรือ SOE Award ประจำปี 2561 ด้านการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กฟผ. กล่าวว่า บ้านห้วยยาง เป็นชุมชนใกล้แนวสายส่ง กฟผ. ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเรื้อรังมายาวนาน ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเกือบทุกปี จึงร่วมกันดำเนินโครงการภูมิชุมชน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นหลักคิดเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจ แก้ปัญหา และบริหารจัดการตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำตามหลักธรรมชาติ ให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำด้วยการวางท่อจากลำห้วยยางยาวกว่า 760 เมตร ซึ่งไม่เสียค่าสูบน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ท้ายน้ำเดิม ทั้งนี้ นอกจากปัญหาด้านแหล่งน้ำแล้ว ชุมชนดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เช่น การเพาะปลูกพืชไร่ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และนาข้าว เมื่อมีการให้ความรู้เรื่องโทษภัยของการใช้สารเคมี ชุมชนจึงเห็นถึงผลกระทบที่มีความรุนแรงในด้านต่างๆ และหันมาทำแปลงเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษกันมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียงให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การเสวนาในครั้งนี้จะเป็นการเปิดมุมมองของชุมชนให้ตระหนักถึงสารพิษ และสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำชุมชนที่ร่วมสร้างกันมา และส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคผลิตผลทางการเกษตรอย่างร้ายแรงได้
การเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. บรรยายพิเศษเรื่อง ทิศทางการพัฒนาตามแนวทางศาสตร์พระราชาในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเน้นแก้ปัญหาที่เป็นความต้องการของชุมชนเอง
ให้เกิดความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงในลักษณะระเบิดจากข้างใน โดยนำมาวิเคราะห์ วางแผนและลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวชุมชนเอง ร่วมกับการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนาถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ มี 5 คน ประกอบด้วย ทันตแพทย์หญิง วรางคณา อินทโลหิต จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู นายคเณศวร โคตรทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกนกพัฒนา จ.หนองบัวลำภู นายวีระศักดิ์ นนท์เหล่าพล วิศวกรระดับ 9 กองบำรุงรักษาโยธา เขื่อนอุบลรัตน์ ดร.รัฐพล ไกรกลาง อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายชาลี แสนจันแดง ปราชญ์ชุมชนบ้านหนองแวงเรือ ต.ดงเมืองแอม โดยมี ดร.ภาสกร บัวศรี ที่ปรึกษาโครงการภูมิชุมชนภาคอีสาน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และตอนท้ายของการเสวนา ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวสรุปและปิดการเสวนา และภายในงานยังจัดให้บริการตรวจเลือดเกษตรกร เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีตกค้างในร่างกายโดยได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงเมืองแอม







บุญสี ศรีกุล
ผู้สื่อข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.สยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)






-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์

-----------------------------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น