• KSL Group

    บริษัท น้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ขอนแก่น!! จัดโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล ประจำปี 2567

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ขอนแก่น!! จัดโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล ประจำปี 2567



     วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 น. กรมชลประทาน จัดโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุม 100 ปี อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 


เรียน นายกรชวาลวิชญ์ ชัยพีรวัส นายอำเภอน้ำพอง กระผม ในนามของผู้แทน กรมชลประทาน ขอขอบพระคุณท่านนายอำเภอเป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติ เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) ในวันนี้


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและการขาดแคลนน้ำ ในฤดูแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก 


โดยในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาโดยตลอด แต่เป็นวิธีการผันน้ำโขงเข้ามาโดยใช้วิธีการสูบน้ำ ซึ่งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเป็นจำนวนมากในแต่ละปี 


จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 มูลนิธิน้ำเพื่อคุณภาพชีวิต ได้เสนอแนวคิดในการผันน้ำโขง เข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยแรงโน้มถ่วง โดยมีกรมชลประทานและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาต่อยอดแนวคิดของมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิตมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการดำเนินการโครงการ ระยะที่ 1 บริเวณพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำ มีการปรับแนวหัวงาน  แนวผันน้ำตามสภาพการใช้ที่ดิน แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยการพัฒนา ระยะที่ 1 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 1.73 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก
ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาโครงการ…


ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 1 สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ประกอบกับโครงการฯ เป็นการผันน้ำและพัฒนาระบบชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทาน ตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป กรมชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตดำเนินการโครงการในลำดับถัดไป

กรมชลประทาน จึงมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด / บริษัท เอ็นแคด คอนซัลแตนท์ จำกัด / บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ชลนวัต จำกัด ดำเนินงาน “โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)” เพื่อ (1) ศึกษาทบทวนรูปแบบระบบชลประทาน (2) จัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ (3) ดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์และ การมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วน
สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้าของการศึกษาโครงการในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวทางเลือกและรูปแบบการพัฒนาโครงการ ให้กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อความก้าวหน้าของการศึกษา แนวทางเลือก และรูปแบบการพัฒนาโครงการจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
โดยผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ สภาเกษตรกร ทสม. และผู้แทนกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ 


ต่อมา นายกรชวาลวิชญ์ ชัยพีรวัส นายอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิด โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารการจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล ประจำปี 2567 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา 
- เพื่อศึกษาทบทวนรูปแบบระบบชลประทาน ตามรายงานรายงานศึกษาความเหมาะสม โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1
- เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ที่สอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP)
- เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน


รูปแบบคลองส่งน้ำ 
การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาและรูปแบบของคลองส่งน้ำ โดยมี 3 รูปแบบหลัก ดังนี้
1. คลองดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีถนน 2 ข้าง มีค่าเวนคืนที่ดินสูง พื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบมาก ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจากเขตคลองมีความกว้างที่สุด แต่มีความง่ายในการก่อสร้างมากที่สุด และมีค่าบำรุงรักษาน้อยที่สุด
2. คลองดาดคอนกรีต รูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีถนน 2 ข้าง มีผลกระทบน้อยกว่าคลองดิน แต่มากกว่าคลองรูปตัวยู มีค่ะลงทุนน้อยที่สุด และมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุด
3. คลองคอนกรีตเสริมเหล็กรูปตัวยู (U-Shape) มีถนน 2 ข้าง มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อย รวมถึงการสูญเสียพื้นที่ทำกินน้อยที่สุด ครัวเรือนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีความกว้างเขตคลองน้อยที่สุด แต่มีค่าก่อสร้างสูงที่สุด เนื่องจากมีความยากในการก่อสร้าง รวมถึงมีระยะเวลาก่อสร้างนานที่สุด







เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------


ธปท.ขอนแก่น!!จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน”

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ธปท.ขอนแก่น!!จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” 


วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30-12.00 น. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” 
ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน 


ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี 2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต 


หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน 3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร


ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น 

ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ 
อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น


ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว  
ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน 2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน


อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้


ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 
คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค” 






รายงานข่าวโดย : เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
                             ธัญญาพิมล จันทะเบ้า  ผู้สื่อข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์ จ.ขอนแก่น
ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ขอนแก่น!!จัดเต็มปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด ภายใต้ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น จับกุมผู้ต้องหา 900 ราย และยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดได้กว่า 27 ล้านบาท

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ขอนแก่น!!จัดเต็มปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด ภายใต้ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น จับกุมผู้ต้องหา 900 ราย และยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดได้กว่า 27 ล้านบาท


       เมื่อเวลา 11.00 `น.วันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่ศูนย์ปฎิบัติการปราบปรามยาเสพติด ชั้น4 ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น นายไกรสร  กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนุวัติ สุวรรณภูมิ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ,ปปส.ภ.4.และ นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวผลการป้องกันปราบปราม บำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น และปฏิบัติการไล่ล่า เด็ดปีก นักค้าอีสานเหนือ 252 ซึ่งได้ดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นทั้งจังหวัดพร้อมกัน 26 อำเภอ ในห้วงระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. - 3 ก.ค. จำนวน  789 เป้าหมาย 120 หมู่บ้าน   โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 900 ราย ของกลางยาบ้า 48,142 เม็ด ยาไอซ์ 909.56 กรัม คีตามีน 2.35 กรัม อาวุธปืน 56 กระบอก,เครื่องกระสุน 254 นัด พร้อมทั้งมีการยึดทรัพย์ของกลุ่มขบวนการเครือข่ายยาเสพติด รวม 27,394,200 บาท
          

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น ยังคงเดินหน้าป้องกันปราบปรามบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ยุทธการพิทักษ์ขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชุมชน หมู่บ้าน ที่มีความพร้อมสมัครใจประกาศเจตนารมณ์ การเป็นหมู่บ้านสีขาว ครัวเรือนสีขาว เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด ไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ครัวเรือน เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน หมู่บ้าน ในความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะร่วมกันต่อสู้เอาชนะยาเสพติด โดยจังหวัดขอนแก่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน จากการดำเนินการที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนได้มาให้ข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมในการต่อต้านยาเสพติด ไม่คบหากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมืองขอนแก่น ที่คนในพื้นที่ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นหมู่บ้านสีขาว โดยเริ่มต้นที่ เครือข่าย อสม.ในการแจ้งข่าวสารแก่คนในพื้นที่ โดยคนในชุมชนมาแสดงความบริสุทธิ์ใจในการตรวจหาสารเสพติดด้วยความสมัครใจ เพื่อเป็นแนวร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ในชุมชน ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ทุกอำเภอ ได้เร่งการดำเนินการ หมู่บ้านและครัวเรือนสีขาว ให้ได้มากที่สุด คาดว่าไม่เกินกลางเดือนหน้า จะขับเคลื่อน ชุมชนสีขาว ครอบครัวสีขาว หมู่บ้านสีขาว ให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้ปัญหายาเสพติดบรรเทาเบาบางลงไปได้ รวมถึงปฏิบัติการกวาดบ้านตนเอง ในการตรวจหาสารเสพติด ในบุคลากรภาครัฐ หมู่บ้าน สถานบริการ สร้างกระแสการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาของทุกคนที่จะต้องร่วมกัน ป้องกันและแก้ไข
      

พล.ต.ต. อนุวัติ สุวรรณภูมิ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการด้านการปราบปราม ที่ได้ดำเนินการ ตรวจค้นชุมชนหมู่บ้าน โดยแผนกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อค้นหาผู้ค้าผู้เสพ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งการดำเนินการยึดทรัพย์ โดยในการดำเนินการข้อมูลในแต่ละครั้ง เมื่อได้ตัวผู้เสพมาจะมีการขยายผลทุกครั้ง ซึ่งทำให้ ได้รับรู้ข้อมูล ว่าในหมู่บ้านนั้นๆ มีใครเป็นผู้ขาย จะมีการต่อยอด ดำเนินการ จับกุมผู้ขาย โดยกดดันปิดล้อม ดำเนินคดี ยึดทรัพย์ ตามมาตรการที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในทุกมิติ



เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------


วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

โคราช!!จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง...แลหน้า...เศรษฐกิจการเงินอีสาน

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

โคราช!!จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง...แลหน้า...เศรษฐกิจการเงินอีสาน


วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมโคราช 2 โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดนครราชสีมา ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง...แลหน้า...เศรษฐกิจการเงินอีสาน โดยเป็นการแถลงข่าวสัญจรครั้งแรก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ภาคอีสาน ได้แก่ 
1) จับชีพจรเศรษฐกิจการเงินในพื้นที่ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 
2) สร้างองค์ความรู้วิชาการเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ 3) ผลักดันนโยบาย ธปท. ให้กับพื้นที่ 4) เป็นตัวกลางความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 5) สนับสนุนให้คนอีสานมีความรู้ทางด้านการเงินและเท่าทันภัยการเงิน โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน 1) ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดหลักของคนอีสาน มีแรงงานในภาคนี้ถึงร้อยละ 53 ของผู้มีงานทำในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานเพียงร้อยละ 7 2) ภาคเกษตรส่วนใหญ่พึ่งฟ้าพึ่งฝน และความสามารถในการทำเกษตรลดลง 3) รายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายในภาคครัวเรือน นำไปสู่ปัญหาหนี้ จากโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานต่างจากประเทศ 


ปี 2566 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการบริโภคและท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัว ตามการบริโภคจากรายได้ที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร หมดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวแต่ช่วยสนับสนุนได้น้อยเพราะมีเพียงไม่เกินร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคอีสาน โดยภาพรวมเศรษฐกิจ ไตรมาส 1 ปี 2567 อ่อนแรงต่อเนื่องจากปี 2566 จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐลดลง ค่าครองชีพในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานอ่อนแอลงจากผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลง นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณเปราะบางต่อเนื่องจากปี 2566 และกำลังซื้อมีความเปราะบางมากขึ้น ในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถกระบะหดตัวสูง และยอดขายบ้านในระดับกลางและล่างลดลงต่อเนื่อง จากรายได้ที่ลดลง รวมทั้งความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยช่วยพยุงการบริโภคได้บ้างจากผลของราคาผลผลิตเกษตรที่ดี และการท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 


ระยะถัดไป เศรษฐกิจภาคอีสานคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว จากงบประมาณภาครัฐปี 2567 ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังไตรมาส 2 ทำให้ภาคการค้า การก่อสร้างตามการลงทุนของรัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 รายได้เกษตรกระจายตัวมากขึ้นจากผลดีของภัยแล้งที่คลี่คลายในช่วงหลังของปี 2567 คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว การผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดอาหารแปรรูปและเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มฟื้นตัวดี และการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามากระจายหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้น 

รายงานข่าวโดย : ธัญญาพิมล จันทะเบ้า  ผู้สื่อข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณะรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

สกร.ขอนแก่น!!จัดโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ขอนแก่นเมืองนวัตกรรมแห่งการอ่าน

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

สกร.ขอนแก่น!!จัดโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ขอนแก่นเมืองนวัตกรรมแห่งการอ่าน


สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น จัดโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ขอนแก่นเมืองนวัตกรรมแห่งการอ่าน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2567

วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 08.00น. สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการจัดโครงการ  ส่งเสริมการอ่านเพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ขอนแก่นเมืองนวัตกรรมแห่งการอ่าน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2567 ประจำปีงบประมาณ 2567  โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และมี นายถาวร พลีดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงานฯ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สกร. อำเภอทั้ง 26 แห่ง และบุคลากรในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วม ณ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น














เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------