• KSL Group

    บริษัท น้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

ขอนแก่น!!เตรียมปักหมุดเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว ฮังแมลง อ.ชุมแพ เสริมอาชีพคนในท้องถิ่น

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ขอนแก่น!!เตรียมปักหมุดเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว ฮังแมลง อ.ชุมแพ เสริมอาชีพคนในท้องถิ่น 


        ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางและศึกษาข้อมูลพื้นที่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ด้านการท่องเที่ยวและเสริมรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 แห่งนี้ ถือเป็น 1 ใน 3 แห่งของทั่วประเทศ 


ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 มีความสำคัญ คือ เป็นแหล่งผลิตแมลงประจำถิ่นและผีเสื้อ  รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมแมลงจากต่างประเทศไว้ให้เด็ก เยาวชน และประชนทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้ ที่น่าสนใจ รวมทั้งการเป็นแหล่งผลิตผีเสื้อเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ซึ่งใน 1 ปี มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท แต่เนื่องจากในช่วงปีนี้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัศโควิด-19 ขึ้น จึงส่งผลให้การส่งออกเป็นไปด้วยความยากลำบาก 


นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น พร้อมที่จะสนับสนุนให้ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 หรือ “รังแมลง” ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า “ฮังแมลง” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอชุมแพ เป็นหนึ่งในการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่าง National geopark หรือ อุทยานธรณีวิทยาระดับประเทศ ของขอนแก่น เชื่อมกับอุทยานประวัติศาสตร์โนนเมือง อำเภอชุมแพ และฮังแมลง เชื่อมต่อไปยังจังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และสนับสนุนให้ศูนย์วิจัยและการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 ที่มีขีดความสามารถในการผลิตแมลงเพื่อการส่งออก เพื่อการสร้างรายได้ให้กับศูนย์ ฯ เอง พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามามีส่วนร่วม  นอกจากจะมีรายได้จากการผลิตแมลงแล้ว ยังทำให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ที่จะทำให้ทุกคนได้หันกลับมาสู่จุดมุ่งหมายของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้อย่างแท้จริง ที่สามารถผลิตแมลงส่งออกเพื่อสร้างรายได้และยังคงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ได้สืบเนื่องต่อไป


จุดเด่นของศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 2 คือการผลิตแมลงเพื่อการส่งออก ซึ่งมีความสามารถในการเพาะพันธุ์แมลงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะผีเสื้อ ส่งออกไปยัง ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอังกฤษ เพื่อนำไปจัดแสดงในสวนสัตว์โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเอง เนื่องจากบางประเทศมีสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยงเองได้ ดังนั้น จากการที่สภาพภูมิอากาศในประเทศไทย มีความเหมาะสมที่จะเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้ง 12 เดือน หรือหากมีห้องเพาะเลี้ยงที่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้นั้น จะช่วยทำให้การแพร่พันธุ์ของแมลงมีความสมบูรณ์และสามารถผลิตเป็นจำนวนได้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งแมลงประเภทผีเสื้อ เป็นสัตว์ที่มีวงรอบอายุสั้น หากมีการส่งเสริมให้มีความสามารถในการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากขึ้น โดยการอบรมให้องค์ความรู้แก่ประชาชนและส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมผลิตผีเสื้อ เพื่อการส่งออกได้นั้น จะเป็นการเสริมความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจฐานราก ที่สามารถมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกแมลง ควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย






ที่มา : ปชส.ขอนแก่น
เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.สยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น