หมอเตือนประชาชนที่อาศัยตามป่าเชิงเขา ป้องกันตนเองจากยุงก้นปล่อง หลังเข้าป่า ๑๕ วัน หากมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ให้ตรวจหาการติดเชื้อไข้มาลาเรีย
ไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค
ในอดีตไข้มาลาเรียได้จัดว่าเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยเนื่องจากโรคนี้เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ปัจจุบันไข้มาลาเรียลดน้อยลงมาก แต่ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอยู่
ความชุกชุมของไข้มาลาเรียยังคงมีตามพื้นที่ที่เป็นป่าเขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวบริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพื้นที่ตามแนวเทือกเขาภูพานเขตรอยต่อจังหวัดกาฬสินธุ์
– อุดรธานี และกาฬสินธุ์ - สกลนคร
ที่ผ่านมาเคยมีผู้ติดเชื้อและมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่
๗ ขอนแก่น เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียปีพ.ศ.๒๕๖๑ ว่าในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วย
๑,๒๔๖ ราย พบสัดส่วนผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ๒:๑ อยู่ในระหว่างอายุ ๒๕-๔๔ ปี
รองลงมาคืออายุมากกว่า ๔๕ ปี อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ถึงแม้ว่าไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่โบราณกาล
แต่ก็ยังพบผู้ป่วยได้ตลอดปีโดยเฉพาะ บริเวณที่เป็นป่าเขา โรคนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการหรือฤดูกาล
เช่น อาจเรียกชื่อว่าไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้ดง ปัจจุบันทางการแพทย์เรียกว่าไข้มาลาเรีย
ความหวังในอนาคตที่จะกำจัดไข้มาลาเรียหมดไปจากประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัย
การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนด้วย มาตรการให้ความรู้เรื่องไข้มาลาเรียแก่ชุมชนถือเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะถ้าประชาชนในชุมชนมีความรู้เรื่องไข้มาลาเรีย และมีความตระหนักว่าเสี่ยงอันตรายต่อการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตและรู้วิธีการปฏิบัติตนในการป้องกัน
การควบคุมและรักษาถูกที่วิธีเมื่อเจ็บป่วย จะสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยลงได้ สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานจังหวัดที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยสูงสุด
ได้แก่ อุบลราชธานีและศรีษะเกษ
สำหรับพื้นที่รับผิดชอบเขตสุขภาพที่ ๗ เคยพบผู้ป่วยที่จังหวัดกาฬสินธุ์
เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเขตเทือกเขาโดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาภูพานเขตติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
ดังนั้น ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในป่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชีพหาของป่า
พรานล่าสัตว์ ท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างแรมในป่า รวมทั้งพระภิกษุที่ธุดงค์ตามป่าเขา
ถ้าไม่ป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดอาจติดเชื้อและป่วยเป็นไข้มาลาเรียได้ และขอฝากผู้นำชุมชนพี่น้องอสม.ทำความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชน
ให้ตระหนักถึงอันตรายและการให้ความรู้ถึงการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นตัวนำเชื้อและมักออกหากินในช่วงเวลาหัวค่ำถึงใกล้รุ่งเช้า
และมีอยู่ชุกชุมในบริเวณป่าเขา โดยป้องกันตนเองให้ปลอดภัย
ดังนี้
๑.
นอนในมุ้ง ยุงนำเชื้อมาลาเรียชอบกัดกินเลือดคนในเวลากลางคืน
จึงจำเป็นต้องนอนในมุ้งเสมอ ถึงแม้ว่ายุงจะมีไม่มากในบางคืนก็ตาม
๒.
ใช้ยาทากันยุง ทาตามบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกเสื้อผ้า
เมื่อยังไม่เข้ามุ้งนอนจะป้องกันยุงกัดได้ ๓-๔ ชั่วโมง ยาทากันยุงมีจำหน่ายทั่วไป
๓.
สวมใส่เครื่องปกคลุมร่างกาย
เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
หมวก ผ้าคลุมใบหน้าเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในป่าเชิงเขา
๔.
เจาะเลือดตรวจ เพื่อหาเชื้อมาลาเรีย เมื่อกลับจากป่าเขาและมีอาการไข้ภายใน ๑๕ วัน
รีบไปเจาะเลือดตรวจที่ อาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
โรงพยาบาล
๕.
ไม่ควรกินยาป้องกัน ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องเชื้อมาลาเรียดื้อยา
จึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกัน
อย่างไรก็ตามหากประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย
ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์
กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ ๑๔๒๒ และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๓๓๓๓ “ไข้หนาวจับสั่น
ให้ระวังไข้มาลาเรีย”
//////////////////////////////////
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 02-5903857
วันที่ 23 เมษายน 2561
เผยแพร่ :
กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗
จ.ขอนแก่น
หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๒๔
http://odpc7.ddc.moph.go.th
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น