• KSL Group

    บริษัท น้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ขอนแก่น!!เร่งกำจัดวัชพืช เศษสวะ ผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำออก และเปิดทางน้ำ การพร่องน้ำ เพื่อทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ขอนแก่น!!เร่งกำจัดวัชพืช เศษสวะ ผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำออก และเปิดทางน้ำ การพร่องน้ำ เพื่อทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 


       วันนี้ 3 พ.ค. 64 ที่ บริเวณสถานีสูบน้ำบึงหนองโคตร ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมพงษ์ เข็มเหล็ก หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินงาน ตามโครงการกรณีฉุกเฉิน ในเชิงป้องกัน หรือยับยั้งจังหวัดขอนแก่น (อุทกภัย) กำจัดวัชพืช เศษสวะ ผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำออก และเปิดทางน้ำ การพร่องน้ำ เพื่อทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนประจำปี 2564


ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ. ศ. 2564 คาดว่าจะเริ่มต้นประมาณกลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งจะเร็วกว่าปกติเล็กน้อย และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศ ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 และจะมากกว่าปีที่แล้ว โดยช่วงครึ่งแรกของฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ส่วนช่วงครึ่งหลังฤดูฝนเดือนสิงหาคม-กลางเดือนตุลาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดและมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน 


เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในเขตชุมชนเมือง และเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดขอนแก่น จึงได้ดำเนินการพร่องน้ำจากบึงหนองโคตร เพื่อจัดทำเป็นแก้มลิงธรรมชาติรับน้ำช่วงฤดูฝน มีเป้าหมายให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3 เมตร โดยพร่องน้ำออกประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร กำจัดวัชพืชผักตบชวา เปิดทางน้ำให้น้ำไหลได้สะดวก พื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านเป็ด และเทศบาลตำบลพระลับ วางแนวป้องกัน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 8 จุด 9 เครื่อง เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนตกหนักรอการระบาย และเร่งผลักดันน้ำสู่ระบบลำน้ำธรรมชาติ เพื่อรับมือกับช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนตกหนัก ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2564 ในพื้นที่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านเป็ด และเทศบาลตำบลพระลับ 


ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลจากการปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่จังหวัดขอนแก่นได้มีการเตรียมการวางแผนและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นั้น ขณะนี้ได้ส่งผล 2 ประการ คือ ประการแรกส่งผลต่อการทดสอบระบบการป้องกัน การเตรียมการพร่องน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการขุดลอกท่อระบายน้ำจุดต่างๆ ถือว่าเป็นการทดสอบระบบ โดยในช่วงที่ฝนตกหนัก 2 วันที่ผ่านมา สามารถลดระยะเวลาในการระบายน้ำลงสู่ห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ที่ได้เตรียมการไว้นั้น เหลือเพียงแค่ไม่เกิน 30 นาที เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และทหาร ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกำลังพล ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน เป็นการเตรียมความพร้อมในทุกปี 


ประการที่ 2 ทำให้ประชาชนมีทัศนคติและเห็นภาพลักษณ์ในการทำงานที่ดีของการบูรณาการของทุกองค์กร และยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากเป็นจุดที่ใกล้กับบริเวณที่ต่ำของแหล่งน้ำท่วมขังในเทศบาลตำบลบ้านเป็ด มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ทำการขุดลอกบึง เพื่อใช้เป็นแก้มลิง และฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทำการสำรวจระดับน้ำ เพื่อให้เป็นแหล่งหนึ่งในการเพิ่มการระบายน้ำให้เร็วขึ้น ซึ่งในปีนี้ปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของสำนักงานชลประทานจังหวัด 14 แห่งในพื้นที่ มีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วถึง 1 เท่าตัว รวมทั้งยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางบางแห่งที่ยังเก็บน้ำได้ เพียง 14 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่อการเกษตรต่อไป 





Cr.PRKHONKAEN
เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.สยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น