• KSL Group

    บริษัท น้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567

ขอนแก่น!!พร้อมจัด “งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น” ประจำปี 2567

สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)

ขอนแก่น!!พร้อมจัด “งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น” ประจำปี 2567


     วันที่ 21 มี.ค.2567 เวลา 16.30 น. นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราช การจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และนายสมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น, งานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว และงานบุญสมมาบูชาพระลับและมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมอีสาน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดขอนแก่น นายอำเภอเมืองขอนแก่น และนายอำเภอทั้ง 26 อำเภอใน จ.ขอนแก่น หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-เอกชน และสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง ณ เฮือนโบราณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีการแสดงรำโขน การฟ้อนรำ การเต้นประกอบเพลง และการละเล่นต่างๆ ให้ชมตลอดงานแถลงข่าวด้วย


นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราช การจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ประจำปี 2567 ที่มาด้วยประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณถือเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองศกใหม่หรือปีใหม่ของคนไทย เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุม ชนบ้านใกล้เรือนเคียง มีกิจกรรมการสรงน้ำพระพุทธรูป การใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติ จากการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการส่งเสริม สืบสาน และกำหนดมาตรการขับเคลื่อนแนวทางการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ระดับชาติ ตลอดจนเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์คุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ให้เป็นที่รับรู้แก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติเนื่องด้วยประเพณีสงกรานต์มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามภูมิหลังทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน อันบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีจุดร่วมกัน เพียงหนึ่งเดียว ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและประเทศ ประเทศไทยจึงกำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 ณ บริเวณถนนราชดำนเนินกลาง และท้องสนามหลวง เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอด”


ด้าน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวด้วยว่า สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวผ่านเทศกาลงานประเพณีในประเทศไทย ที่เป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ และกำหนดจัดขบวนรถสงกรานต์ ซึ่งจังหวัดขอนแก่น ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มจังหวัด เข้าร่วมขบวนแห่ในครั้งนี้ด้วย(จังหวัดเชียงใหม่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรีจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครศรีธรรมราช)เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันดีงาม และเฉลิมฉลองที่องค์การยูเนสโกประกาศให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิ ปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษย ชาติ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงประชาสัมพันธ์งานสงกรานต์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล จังหวัดขอนแก่น ได้จัดงานสงกรานต์ในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น งานสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว, งานทรงน้ำสมมา วันทาพระลับ ณ วัดธาตุ พระอารามหลวง, งานประเพณีสงกรานต์อีสานดั้งเดิม ณ วัดไชยศรี และงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ วิถีไทบ้านขอนแก่น ประจำปี 2567 ณ บริเวณบ้านโบราณ “เฮือนโบราณ วิถีไทบ้านขอนแก่น” หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น สำหรับการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ วิถีไทบ้านขอนแก่น กำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 11–15 เมษายน 2567 ณ บ้านโบราณ “เฮือนโบราณ วิถีไทบ้านขอนแก่น” หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น


โดยกิจกรรมประกอบด้วย จัดพิธีเปิดงานในวันที่ 11 เมษายน 2567 ณ บริเวณบ้านโบราณ “เฮือนโบราณ วิถีไทบ้านขอนแก่น” หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น มีกิจกรรมที่เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม เช่น การประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์, พิธีสรงน้ำพระพุทธพระลับ พระธาตุขามแก่น (องค์จำลอง), พิธีสรงน้ำพระสงฆ์มหาเถรานุ เถระ และการแสดงศิลปวัฒน ธรรม เป็นต้น ส่วนขบวนแห่สงกรานต์ในวันที่ 11 เมษายน 2567 ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 อัญเชิญพระพุทธพระลับ ขบวนที่ 2 ตำนานนางสงกรานต์ ประจำปี 2567 ขบวนที่ 3 ขบวนหุ่นเชียง ยืน,ขบวนกลองยาว ขบวนที่ 4 ขบวนแห่น้ำดอกไม้(จาก 26 อำเภอ) ขบวนที่ 5 ขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์รำวงเริงสงกรานต์ 4 ภาษา มีการประกวดต้นดอกไม้วันที่ 12 เมษายน 2567 มีประชาชนในพื้นที่นำต้นดอกไม้ จำนวน 198 ต้นจากทุกพื้นที่ในจังหวัดมาแสดงตลอดการจัดงาน และกำหนดประกวดต้นดอกไม้ มีการประกวดตบประทาย(ก่อเจดีย์ทราย) ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ทุกอำเภอร่วมกิจกรรมตบประทาย(ก่อเจดีย์ทราย)


ส่วนนายสมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า ส่วนการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันที่ 15 เมษายน 2567 พบกับนางสงกรานต์ ประจำปี 2567 แอนโทเนีย โพซิ้ว มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2023 และรองมิสยูนิเวิร์ส 2023 มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นหมอลำ โดยมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากอำเภอทุกอำเภอในทุกวัน และการแสดงศิปลวัฒนธรรมหมอลำ อาทิ เช่น วันที่ 12 เมษายน 2567 การแสดงจากศิลปินวง “อรดีแบรนด์” วันที่ 13 เมษายน 2567 การแสดงจากศิลปินหมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์ อาทิ ท๊อป นรากร, ต้าวหยอง, แต้ว สุกัญญา, ท๊อป ธนาชัย วันที่ 14 เมษายน 2567 การแสดงศิลปวัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านจาก สภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และการแสดงแสง สี เสียง มีกิจกรรมเสริมสิริมงคลอุโมงค์ดอกคูน ยาวกว่า 40 เมตร ภายใต้แนวคิด “มนต์ธารา ศรัทธาสายมู” มีการแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย เช่น ตลาดเก่าเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น การจำหน่ายสินค้า ณ เฮือนโบราณ, การจำหน่ายคาราวานสินค้า เป็นต้น


“จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น และนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ได้มาเที่ยวงานสงกรานต์ที่ขอนแก่น เราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันดีงาม และเป็นการเฉลิมฉลองที่องค์การยูเนสโกประกาศให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวในที่สุด.










เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)


-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์


-----------------------------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น