สยามไทยแลนด์ นิวส์ (ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)
นายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการอุทยานธรณีขอนแก่นสู่อุทยานธรณีโลก ย้ำให้ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ประชาชนรู้จัก-ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น สร้างอาชีพ รายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ 21 มิ.ย.65 เวลา 08.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการประชาสัมพันธ์การเสนออุทยานธรณีขอนแก่น เข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอ เรื่อง การเสนออุทยานธรณีขอนแก่น เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้เสนออุทยานธรณีขอนแก่น สมัครเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ก่อนยื่นความจำนงต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2565 และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีขอนแก่น เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายธาดา พรหมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้แทนผู้อํานวยการอุทยานธรณีขอนแก่น และนางอัปสร สอาดสุด ผู้อํานวยการกองธรณีวิทยา นำเยี่ยมชม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการดำเนินงานและบริหารจัดการอุทยานธรณีขอนแก่นด้วยความสนใจ และชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่นและผ้าไหมมัดหมี่ โดยชื่นชมการออกแบบผ้าไหมมัดหมี่ที่มีการพัฒนาออกมาเป็นลวดลายที่สวยงามและรูปแบบที่น่าสนใจโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ลายไดโนเสาร์ โดยย้ำให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขยายไปสู่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่และนำศักยภาพที่ท้องถิ่นและพื้นที่มีอยู่ มาพัฒนาขับเคลื่อนให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้รู้จักเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดขอนแก่นถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมถึงพื้นที่อุทยานธรณีขอนแก่นแห่งนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่น ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kean Geopark) เป็นอุทยานธรณีท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และได้รับรองให้เป็นอุทยานธรณีประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเวียง และอำเภอเวียงเก่า รวมพื้นที่ประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร โดยสิ่งที่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกให้ความสำคัญมี 4 ประการ ประกอบด้วย มรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ การบริหารจัดการ การรับรู้ของประชาชน และเครือข่าย โดยอุทยานธรณีขอนแก่นได้มีการดำเนินการครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ทั้งนี้ หากอุทยานธรณีขอนแก่นได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยว แหล่งธรณีวิทยาไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งเป็นต้นกําเนิดการค้นพบไดโนเสาร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการอนุรักษ์และศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเป็นมรดกที่สําคัญของประเทศไทย รวมทั้งแหล่งธรณีวิทยาอื่น ๆ ที่อยู่ภายในอุทยานธรณีขอนแก่นจะเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อให้อุทยานธรณีขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวบรรพชีวินวิทยาเพื่อคนทั้งมวล เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เปิดรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย จากทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยาน ธรณีขอนแก่นเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 100,000 คน/ปี ประมาณรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ย เพิ่มขึ้นราว 150 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 1,500 บาท/คน)
Cr.Pr.Khonkaen
เกรียงไกร อนุรักษ์เจริญพร
บก.ข่าวสยามไทยแลนด์ นิวส์
(ทุกทิศ ทั่วไทย ข่าวสารกว้างไกล คุณธรรมนำใจประชาชน)
-------------------------------------
เว็ปไซต์นี้จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทะเบียนพาณิชย์
-----------------------------------------------------
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น